ไก่แดง

Aeschynanthus hildebrandii Hemsl (Gesneriaceae), Lipstick plant.

ไก่แดง

ในภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะที่ดอยสุเทพ และดอยปุย ในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไก่แดง ซึ่งมันเป็นเพียงพืชเกาะอาศัย (Trailing epiphyte) เป็นกกกอตามต้นใหญ่ทำนองเดียวกับกล้วยไม้ป่าทั่วๆไป

ไก่แดงในฤดูหนาว ไก่แดงจะผลิดอกสีแดงสดตามยอด ดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก แต่ละดอกมีก้านเรียว ๆ ชูดอกตั้งตรงขึ้นไป กลีบรองกลีบดอกมีจักเล็ก ๆ 5 จัก ยาวประมาณ 5 มม. มีขนอ่อนปกคลุมกลีบดอกเป็นหลอดยาวโค้งเป็นขอ รูปแตรงอน ยาว 3-4 ซม. ปลายหลอดผายออก ใบเล็กรูปหอกขนาบ กว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 10 ซม. เรียงตัวตรงข้ามเป็นคู่ๆก้านใบสั้น เมื่อออกดอกแล้วมักไม่ใคร่ติดผลซึ่งมีลักษณะยาวคล้ายปิ่นปักผม แต่ละฝักจะมีเมล็ดมากมาย และที่ปลายเมล็ดข้างหนึ่งจะมีขนขาวๆเป็นพู่ติดอยู่ เวลาแก่ฝักจะแตกกระจายแล้วเมล็ดจะลอยตามลมไปติดกับเปลือกต้นไม้ใหญ่หรือในที่ผุชื้น มีอุณหภูมิเหมาะสมเมล็ดจะงอกเป็นต้นเล็กๆขึ้นมา

การขยายพันธุ์ไก่แดงมักจะใช้วิธีแกะกอออกจากต้นไม้ใหญ่ แล้วปลูกในกระถางแขวน ด้วยขุยมะพร้าวหรือกากชายผ้าสีดาหรือพวกออสมันด้า